About us
HOME
HISTORY
Mission/Vision
Board of Directors
Executives
Contact for prosthetic leg donation
The Royal Prosthetic Leg Workshop
List of the 5 Prosthetic Leg Workshops Abroad
E-Book
Prosthetic Legs For Animals
Donation
Donation
Donate money
Other donations
Royal Prosthetic Leg Workshops
Royal Mobile Prosthetic Leg Workshops in Thailand
Royal Mobile Prosthetic Workshops Overseas
Training courses
News/Events
News and activities
Parcel Announcement
Personnel Announcement
Job announcement
ดาวน์โหลดฟอร์ม
Document download
Virtual tour
TH
EN
News and activities
พระเมตตา"สมเด็จย่า" ผลิต"ขาเทียม" แก้ปัญหา-สร้างอาชีพ
"สาเหตุหลัก ๆ ของคนไข้ขาขาดในกรณีที่อายุน้อย มีสาเหตุจากอุบัติเหตุราว 40% ส่วนในรายที่อายุมาก มักจะเกิดจากโรคที่สำคัญอย่างเบาหวาน เส้นเลือดตีบ หรืออื่น ๆ“ ...เป็นการระบุจาก รศ.นพ.วัชระ รุจิเวชพงศธร เลขาธิการ มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ถึงสาเหตุสำคัญของการสูญเสียอวัยวะที่สำคัญอย่าง “ขา” ของคนไทย จนต้องกลายเป็น “ผู้พิการ” และเกิดผลกระทบ ในการทำกิจกรรมทำงาน ต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวันยิ่งนานวันตัวเลข “ผู้สูญเสียขา” ก็ยิ่งเพิ่มขึ้น กรณีนี้นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของไทย ทั้งนี้ ในการให้ความช่วยเหลือแก่ “ผู้พิการขาขาด” นั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการจัดกิจกรรม หน่วยบริการทำขาเทียมพระราชทานในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ศูนย์การค้า 168 แพลตินั่ม จ.อุดรธานี โดยกิจกรรมดังกล่าวนี้มีภาคเอกชนคือ เอไอเอ ประเทศไทย ให้การสนับสนุนด้วยการร่วมสมทบทุนเงินบริจาคจำนวน 1 ล้านบาท เพื่อใช้ในการทำกิจกรรมครั้งนี้ กิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อ ผลิตขาเทียมให้แก่ผู้พิการขาขาด ทาง รศ.นพ.วัชระ เลขาธิการมูลนิธิขาเทียมฯ ระบุถึงกิจกรรมนี้ว่า... นอกจากการผลิตขาเทียมให้ผู้พิการแล้ว ทางมูลนิธิฯ ยังได้ร่วมมือกับอีกหลาย ๆ หน่วยงาน เพื่อ พัฒนาอาชีพให้ผู้พิการได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ยกตัวอย่าง... ช่างที่ทำขาเทียม ในปัจจุบันจากจำนวน 200 กว่าคน กว่าครึ่งหนึ่งล้วนเป็นผู้พิการที่ทางมูลนิธิฯได้ช่วยเหลือไว้ ทั้งการมอบขาเทียมให้ รวมไปถึงการฝึกอบรมให้ผู้พิการเหล่านี้ จนหลายคนได้พัฒนาฝีมือมาเป็น “ช่างทำขาเทียม” ในปัจจุบัน เลขาธิการมูลนิธิขาเทียมฯ ระบุต่อไปว่า... หน้าที่ของมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีหลายภารกิจ เริ่มจากให้บริการขาเทียมแก่คนพิการทุกคนอย่างเท่าเทียม ตาม พระปณิธานของ ’สมเด็จย่า“ ที่ได้ตั้งพระปณิธานไว้ว่า จะให้ขาเทียมแก่ผู้พิการขาขาดทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา โดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งได้เริ่มดำเนินการด้านนี้มาตั้งแต่ปี 2535 แล้ว ส่วนภารกิจที่สอง มุ่งเน้นที่การสร้างบุคลากรเพื่อยกระดับเป็น “ช่างผลิตขาเทียม” ซึ่งไม่เฉพาะแค่ประเทศไทย แต่รวมไปถึงในอีกหลายประเทศ โดยทางมูลนิธิฯ จะเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนให้กับประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องนี้ เพื่อที่คนกลุ่มนี้จะได้ช่วยเหลือคนอื่นต่อไป... สำหรับ “การฝึกอบรมช่างผลิตขาเทียม” ในไทยนั้น มีการฝึกอบรมแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ การฝึกเพื่อเป็นช่าง ที่จะใช้เวลาอบรมประมาณ 5 เดือน เพื่อไปประจำตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยปัจจุบันมีช่างผลิตขาเทียมที่ประจำตามโรงพยาบาล ต่าง ๆ จำนวน 74 แห่ง ๆ ละ 2 คน และในปี 2561 จะเพิ่มเป็น 85 แห่ง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนของช่างผลิตขาเทียมก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงได้มีการเปิด “หลักสูตรช่างผลิตกายอุปกรณ์” ระดับ ปวส. เป็นหลักสูตร 2 ปีขึ้น ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนช่างผลิตขาเทียม-ช่างทำขาเทียม ’มูลนิธิฯ ทำงานร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ โดยผู้ ที่จบหลักสูตรแล้วจะไปทำงานในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยจะ ได้บรรจุเป็นข้าราชการ เพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนที่เกิดขึ้น เพราะขณะนี้ทั่วประเทศมีช่างเพียง 200 กว่าคนเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอในการให้บริการแก่ผู้พิการขาขาด ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ๆ ละมากกว่า 3,000 คน“ ...รศ.นพ.วัชระ กล่าว พร้อมระบุอีกว่า...นอกจากนี้ ทางมูลนิธิฯ ยังได้ทำงานวิจัยร่วมกับอีกหลายสถาบัน รวมถึงบริษัทเอกชน เพื่อพัฒนาชิ้นส่วนขาเทียมให้มีคุณภาพดีขึ้น โดยพยายาม “ใช้วัสดุในประเทศ” เพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยด้วย อย่างไรก็ตาม เลขา ธิการมูลนิธิขาเทียมฯ ได้เน้นย้ำกับ “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ว่า...’แม้ ขาเทียมที่แจกจะเป็นของฟรี แต่ก็ต้องได้มาตรฐานระดับสากล“ ทั้งนี้ ในการเปิดหน่วยบริการทำขาเทียมพระราชทานฯ ที่ จ.อุดรธานี ถือเป็นการออกหน่วยเคลื่อนที่ครั้งที่ 142 แล้ว ซึ่งในแต่ละครั้งจะมีคนเข้ามาปรึกษาและใช้บริการราว 150-200 คน โดยส่วนใหญ่ก็จะใช้เวลาในการทำขาเทียมอยู่ที่ 4 วัน ซึ่งถือว่าใช้เวลาสั้นมาก หรือขาเทียมบางประเภท เช่น ขาเทียมระดับใต้เข่า หากเป็นช่างที่มีประสบการณ์จะใช้เวลาทำเพียง 4-5 ชั่วโมง ถ้าเป็นช่างที่ยังมีประสบการณ์ไม่มาก ก็จะใช้เวลา 1 วัน หรือขาเทียมระดับเหนือเข่า ก็จะใช้เวลา 2 วัน เป็นต้น ซึ่งกว่า 25 ปีของการดำเนินการ มูลนิธิฯได้ทำขาเทียมให้ผู้พิการแล้วกว่า 30,000 ขา เพื่อ สืบสานพระปณิธาน “สมเด็จย่า” ทางด้านผู้บริหารเอไอเอ ภควิภา เจริญตรา ระบุว่า... ทาง เอไอเอมีโครงการ เพื่อก้าวใหม่ ชีวิตใหม่ เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของบริษัทที่ได้ตอบแทนกลับคืนสู่สังคม เพราะโครงการนี้ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนมูลนิธิขาเทียมฯ โดยต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ผู้พิการทางขาที่มีกว่า 50,000 คนทั่วประเทศ ให้ดำเนินชีวิตในสังคมได้ ต่อไป ซึ่งทางบริษัทได้ร่วมสนับสนุนเงินทุนให้มูลนิธิฯปีละ 1 ล้านบาทมาตั้งแต่ปี 2552 โดยปีนี้เป็นปีที่ 9 แล้วที่ได้เข้าร่วมสนับสนุน และขอยืนยันว่า... จะมีการดำเนินการโครงการนี้ต่อไปเพราะเข้าใจถึงความเดือดร้อนของผู้พิการขาขาด โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล ’เพราะขาเทียมไม่ใช่แค่เรื่องของขาเทียม แต่ยังเปรียบเสมือนการมอบโอกาสให้กับผู้พิการเหล่านี้ด้วย“ ...ผู้บริหารภาคเอกชนรายนี้กล่าว ต่าง ๆ เหล่านี้...ก็ ’ด้วยพระเมตตาแห่งสมเด็จย่า“ ไม่เพียงเป็นการ ’แก้ปัญหาให้ผู้พิการขาขาด“ แต่ยังเป็นการ ’ส่งเสริม-พัฒนาอาชีพ“ ด้วย. ... อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/article/575743
2017-05-25